ไม่เห็นด้วย! ดราม่าละครดัง #แบนแม่หยัว ปมวางยาสลบแมว สัตวแพทยสภา แจง อันตรายไม่ควรทำ มีไว้ใช้ทางการแพทย์เท่านั้น
ยังคงเป็นกระแสฮิตติดเทรน X (Twitter) กับแฮชแท็ก #แบนแม่หยัว หลังมีการวางยาสลบแมวเพื่อเข้าฉากจนร่างกายมีการกระตุกและชักเกร็ง ทำให้ชาวเน็ตและทาสแมวส่วนใหญ่ออกมาตั้งคำถามถึง ความเหมาะสมเพราะนี่ดูเหมือนเป็นการทารุณกรรมสัตว์

- ดราม่าไม่จบ! #แบนแม่หยัว วอชด็อกจ่อแจ้งความ ผิด พรบ. คุ้มครองสัตว์
- ผกก.แม่หยัว โร่ชี้แจง ปม วางยาสลบแมว ลั่นน้องแมวยังอยู่ดี ไม่เป็นอันตราย
- แฟนละครรับไม่ได้! แห่ติด #แบนแม่หยัว หลังวางยาสลบแมวจริง เพื่อเอาเข้าฉาก
ล่าสุด ผศ. สัตวแพทย์หญิง ดร.สิริรัตน์ นิยม อนุมัติบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ สาขาศัลยศาสตร์ อนุกรรมการฝึกอบรมและสอบความรู้ความชำนาญฯ สาขาศัลยศาสตร์ ได้มีการออกมาเผยถึงความอันตรายและข้อควรระวังในการวางยาสลบสัตว์ ผ่านทางเพจ Facebook สัตวแพทยสภา ประเทศไทย
การวางยาสลบในทางสัตวแพทย์เป็นกระบวนการที่ทำให้สัตว์เกิดสภาวะหมดความรู้สึกของร่างกาย การตอบสนองต่อสิ่งเร้าลดลงหรือหมดไป เพื่อเป็นประโยชน์ในการทำหัตถการต่อสัตว์ในการป้องกัน การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคที่สัตวแพทย์ไม่สามารถกระทำในขณะที่สัตว์รู้สึกตัวได้ หรือนำมาใช้ในการจับบังคับสัตว์ที่ควบคุมได้ยากเพื่อการเคลื่อนย้ายสัตว์ เป็นต้น
โดยการให้ยาสลบนั้นมีสิ่งที่จำเป็นต้องคำนึงถึงหลายประการ เนื่องจากฤทธิ์ของยาที่นอกเหนือไปจากการทำให้สัตว์หมดสติแล้วยังมีผลต่อระบบการทำงานของร่างกาย ทั้งระบบประสาท ระบบไหลเวียนโลหิต ระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร และระบบต่อมไร้ท่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลข้างเคียงต่อระบบบไหลเวียนโลหิต และระบบทางเดินหายใจ ที่ถูกกดการทำงานมากขึ้น เมื่อระดับการสลบลึกขึ้น ผลข้างเคียงจะแตกต่างกันไปในแต่ละชนิดของยาสลบและยานำสลบที่ใช้
อีกทั้งการวางยาสลบสัตว์จต้องมีการประเมินสุขภาพสัตว์อย่างละเอียดรอบคอบครบถ้วนสมบูรณ์นั้น จึงเป็นสิ่งที่สัตวแพทย์จะต้องให้ความสำคัญ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เพียงพอ ในการนำมาวางแผนเตรียมตัว ปรับสภาพร่างกายสัตว์ให้มีความพร้อมต่อการรับการวางยาสลบ และเลือกใช้ชนิดยาในการวางยาได้อย่างเหมาะสม ลดโอกาสของการเกิดผลไม่พึงประสงค์ได้
นอกจากนี้พึงตระหนักว่าภาวะแทรกช้อนในการวางยาสลบสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดทุกช่วงเวลา ตั้งแต่เริ่มต้นให้ยานำสลบกลุ่ม premedication ขณะเหนี่ยวนำการสลบ ขณะคงภาวะสลบ ไปจนกระทั่งระยะพักฟื้นหรือขณะสัตว์ตื่นจากการสลบ
ดังนั้น การวางยาสลบสัตว์จึงควรดำเนินการหรือควบคุมการดำเนินการอย่างใกล้ชิดโดยสัตวแพทย์ และควรมีการวางแผนให้มีอุปกรณ์และผู้เฝ้าระวังติดตามสัญญาณชีพของสัตว์ อย่างใกล้ชิดอยู่ตลอดเวลา มีการปรับระดับความลึกของการสลบให้เหมาะสม และมีการเตรียมพร้อมทั้ง
ทางด้านอุปกรณ์ สารน้ำ และเวชภัณฑ์ฉุกเฉิน ที่ทำให้สามารถนำมาใช้แก้ไขปัญหาแทรกช้อนเหล่านั้นได้อย่างทันท่วงที การกระทำที่ไม่รอบคอบหรือไม่มีการวางแผนเตรียมความพร้อมอย่างถูกต้อง หรือการวางยาสลบในสัตว์โดยไม่มีเหตุจำเป็น อาจส่งผลเพิ่มความเสี่ยงให้สัตว์ได้รับอันตรายจนถึงเสียชีวิตได้

ทางด้านเพจ Facebook มูลนิธิวอชด็อก ไทยแลนด์ Watchdog Thailand Foundation – WDT ได้มีการอัปเดตเกี่ยวกับเรื่องราวดังกล่าวว่า ขณะนี้ทาง WDT กำลังรอผลการตรวจสอบจากกรมปศุสัตว์วันนี้ (11 พ.ย.) โดยมีประเด็นสำคัญที่จะต้องขอให้มีการดำเนินการสอบสวน 2 ข้อ ได้แก่
- การวางยาสลบในสัตว์ต้องกระทำโดยสัตวแพทย์เท่านั้น ตามกฏหมาย พรบ.วิชาชีพการสัตวแพทย์ และต้องเป็นไปเพื่อการรักษาชีวิตของสัตว์ ไม่ใช่นำสัตว์มาเสี่ยงกับอันตรายที่จะเกิดจากการวางยาสลบหาก “ผู้เชี่ยวชาญ” ที่ผู้กำกับละครชี้แจงมา มิใช่สัตวแพทย์ ผู้รับผิดชอบกองถ่ายละครและเจ้าของสัตว์ จะต้องมีความผิดตามกฏหมาย พรบ.วิชาชีพการสัตวแพทย์
- หาก “ผู้เชี่ยวชาญ” ที่ผู้กำกับละครชี้แจงมา เป็นสัตวแพทย์ก็ต้องมาดูในเรื่องจรรยาบรรณ และ พรบ.ป้องกันการทารุณกรรมฯ เพราะการวางยาสลบในสัตว์ โดยเจตนาให้สัตว์ได้รับอาหาร จนแสดงอาการขย้อนและกระตุกจนสลบแน่นิ่ง เป็นเจตนาทำให้สัตว์อยู่ในความเสี่ยงและเป็นอันตรายถึงชีวิตจากการใช้ยาสลบ
