สรุปเหตุการณ์ คานเหล็ก พระราม 2 ถล่มทับคนงาน เสียชีวิตสลด 6 ราย ใช้เวลากู้ร่างกว่า 1 วัน กองทุนประกันสังคม เร่งเยียวยาราว 8 แสนบาท
จากกรณีที่ ช่วงเวลา 04.30 น. ของวันที่ 29 พ.ย. ที่ผ่านมา เกิดเหตุคานเหล็กที่ใช้ยกแผ่นปูนก่อสร้างทางยกระดับถนนพระราม 2 ตอนที่ 1 ช่วงที่ 3 ขาออกกรุงเทพฯ ตำบลนาดี อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ก่อนถึงตลาดมหาชัยเมืองใหม่ พังถล่มลงมา
ส่งผลให้มีคนงานทั้งชาวไทยและชาวเมียนมา เสียชีวิตรวม 6 คน โดยมี 3 รายที่ ยังนำร่างออกมาไม่ได้ นอกจากนี้ ยังมีผู้บาดเจ็บถูกนำส่งโรงพยาบาลต่าง ๆ ประมาณ 9 คน คนงานที่เหลือประมาณ 25 คน ได้รับการช่วยเหลือออกมาอย่างปลอดภัย ซึ่งช่วงเกิดเหตุ มีคนงานก่อสร้างกำลังทำงานอยู่ ประมาณ 40 กว่าคน
- ข่าวที่เกี่ยวข้อง : เร่งตามหาผู้สูญหาย เหตุเครนถล่ม พระราม 2 ล่าสุดดับแล้ว 2 เจ็บนับ 10!
ต่อมา ทีมค้นหาและกู้ภัยในเขตเมืองแห่งชาติ (USAR Thailand) ได้รับมอบหมายให้ทำการค้นหาผู้สูญหายจำนวน 3 ราย ได้ดำเนินการค้นหาและนำร่างผู้เสียชีวิตออกมาได้ครบทั้ง 3 ราย
โดย รายแรกนำร่างออกมาได้ในเวลา 16.50 น. วันที่ 29 พ.ย. 67 รายที่ 2 นำร่างออกมาได้เมื่อเวลา 19.50 น. วันที่ 29 พ.ย. 67 และ รายที่ 3 ซึ่งเป็นรายสุดท้ายสามารถนำร่างออกมาได้ในวันที่ 30 พ.ย. 67 เวลา 06.05 น. เสร็จสิ้นภารกิจ ด้านการค้นหาผู้สูญหายและเตรียมถอนกำลังส่งมอบพื้นที่ปฏิบัติการทางด้านโครงสร้างให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

หลังเกิดเหตุ นายนริศ นิรามัยวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ลงพื้นที่ทันที แต่ยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่ทำให้ถล่มลงมาได้ เบื้องต้นจะมีวิศวกรจากบริษัทผู้รับจ้าง และสำนักก่อสร้างสะพาน กรมทางหลวง เข้าตรวจสอบ และนำรถเครนขนาด 400 ตัน 1 คัน และ 200 ตัน 2 คัน เข้าเคลียร์พื้นที่
นายวุฒินันท์ ปัทมวิสุทธิ์ ประธานสาขาวิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า สาเหตุยังไม่ทราบ แต่เบื้องต้นพบมีวัสดุคาอยู่ น้ำหนักประมาณ 100 ตัน และมีบล็อกที่แขวนคาอยู่ คาดว่าน้ำหนักเกิน 50 ตัน การเก็บกู้เป็นเรื่องยาก เพราะโครงเหล็กยึดโยงกับหลายส่วน ต้องทยอยรื้อจากด้านบน แล้วนำร่างผู้เสียชีวิตออกมา คาดจะใช้เวลารื้อถอนประมาณ 2-3 วัน
ศาตราจารย์ ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย อธิบายว่า โครงสร้างเหล็กที่พังถล่มลงไป เป็นโครงถักเหล็กเลื่อน ใช้สำหรับยกชิ้นส่วนสะพาน ให้วางตัวในแนวเดียวกัน จากนั้นยึดชิ้นส่วนเข้าด้วยกัน โดยการดึงลวดอัดแรง โครงถักเหล็กที่ใช้ มีลักษณะเป็นรูป 3 เหลี่ยม ใช้คู่กัน 2 ตัว เพื่อยกชิ้นส่วนสะพาน การพังถล่มคาดว่า เกิดขึ้นขณะติดตั้งคานปูน ไม่ใช่ขั้นตอนเลื่อนโครงถักไปข้างหน้า แต่สาเหตุที่แท้จริง จะต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียด

ขณะที่ นายวรณัฎฐ์ หนูรอต รับมอบอำนาจจากผู้ว่าราชการจังหวัด ประชุมร่วมกับฝ่ายต่าง ๆ โดยการเยียวยาผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ทางผู้ตรวจราชการของประกันสังคมได้ลงพื้นที่แล้ว เบื้องต้นผู้เสียชีวิตที่มีประกันสังคม มีกองทุนที่จะจ่ายให้ราว ๆ 800,000 บาทเศษ ส่วนผู้บาดเจ็บ จะใช้เงินกองทุนดูแล จนกระทั่งหายเป็นปกติ นอกจากนี้ได้รับแจ้งจากทางผู้รับจ้างว่า ทางบริษัทจะดูแลเยียวยาให้ดีที่สุด
ทางด้าน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม แถลงข่าวเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมมอบหมายกรมทางหลวง ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และหาข้อสรุปภายใน 15 วัน รวมถึงตรวจสอบความปลอดภัยให้มั่นใจก่อนเปิดการจราจรด้วย สำหรับการเยียวยาผู้เสียชีวิต จะให้ผู้รับเหมาเยียวยาศพละ 1 ล้านบาท เป็นการเยียวยาเบื้องต้น และต้องบังคับให้มีการเยียวยาให้ได้
สำหรับโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 สายทางยกระดับ ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว มีงานก่อสร้าง 10 ตอน จุดที่เกิดเหตุ อยู่ในตอนที่ 1 มีบริษัทแห่งหนึ่งเป็นผู้รับจ้าง วงเงิน 1,757 ล้านบาท
ขณะที่ พลตำรวจเอก กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร. ระบุว่า เน้นย้ำตำรวจภูธรภาค 7 ให้มีความเด็ดขาดในการสอบสวน หากเหตุที่เกิดขึ้น เป็นความรับผิดชอบของบริษัท หรือ ผู้รับเหมารายที่เคยทำให้เกิดอุบัติเหตุมาแล้ว ข้อมูลส่วนนี้จะนำมาพิจารณาในสำนวน เป็นหน้าที่ที่พนักงานสอบสวนจะต้องพิจารณาข้อมูลโดยละเอียด หากพบผู้มีส่วนผิด ให้ดำเนินคดีเด็ดขาด ไม่มีการละเว้น