คนกรุงยิ้ม! กทม. ประกาศขอความร่วมมือ WFH ต่อเนื่องจนถึง 24 ม.ค. 68 หลัง ค่าฝุ่น PM 2.5 ยังสูง กว่า 35 เขต คาดดีขึ้น 25 ม.ค. เป็นต้นไป
วันที่ 21 ม.ค. 68 นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กทม. ประกาศขยายระยะเวลา WFH เพิ่มเติม ในวันที่ 22 – 24 ม.ค. 68 เพื่อลดการเดินทาง ลดปริมาณรถยนต์ในภาคการจราจรซึ่งเป็นต้นตอหนี่งของฝุ่นในกรุงเทพฯ
สืบเนื่องจากการที่ กทม. ได้มีการประกาศขอความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐ เอกชน รวมถึงประชาชนที่สะดวกทำงานที่บ้าน ร่วม WORK FROM HOME (WFH) ในวันจันทร์และอังคารที่ 20 – 21 ม.ค. 68 และจะมีการประกาศขยายระยะเวลา WFH เพิ่มเติมต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 24 ม.ค. 68 หากสถานการณ์ฝุ่นยังมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องนั้น กทม. ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยวานนี้ (20 ม.ค. 68) ณ เวลา 07.00 น. ภาพรวมปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 พบเกินค่ามาตรฐานทั้ง 50 เขต ดัชนีคุณภาพอากาศระดับสีส้ม 50 เขต
ส่วนในวันนี้ ณ เวลา 07.00 น. ภาพรวมปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 พบเกินค่ามาตรฐานทั้ง 50 เขตเช่นกัน โดยดัชนีคุณภาพอากาศระดับสีแดง 2 เขต ส้ม 48 เขต และจากการพยากรณ์ฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครล่วงหน้า ระหว่างวันที่ 22 – 24 ม.ค. 68 พบว่า 1. มีเขตที่ค่าฝุ่นเข้าเกณฑ์สีส้ม 35 เขตขึ้นไป 2. อัตราการระบายอากาศไม่ดี คือ อยู่ระหว่าง 875 – 2,250 ตารางเมตรต่อวินาที (m2/s) โดยวันที่ 22 ม.ค. คาดการณ์อัตราการระบายอากาศอยู่ที่ 1,750 m2/s วันที่ 23 ม.ค. คาดการณ์อัตราการระบายอากาศอยู่ที่ 1,125 m2/s วันที่ 24 ม.ค. คาดการณ์อัตราการระบายอากาศอยู่ที่ 2,125 m2/s 3. คาดการณ์ทิศทางลมตะวันออกเฉียงเหนือ และ 4. จุดเผาภาคกลาง/ตะวันออก 5 วันติดต่อกัน (11 – 15 ม.ค. 68) เกินวันละ 80 จุด
ทั้งนี้ เนื่องจากมวลอากาศเย็นที่ยังคงปกคลุมพื้นที่ตอนเหนือของประเทศไทย ส่งผลให้อากาศนิ่งและจมตัว และเกิดสภาวะอากาศปิดใกล้ผิวพื้น อย่างไรก็ตาม คาดว่าสถานการณ์จะเริ่มดีขึ้นช่วงวันที่ 25 – 27 ม.ค. 68 เนื่องจากมีอัตราการระบายที่เพิ่มขึ้น

สำหรับท่านที่ไม่สามารถ WFH ได้ หรือมีความจำเป็นต้องออกจากบ้านอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ขอให้ระมัดระวังและดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก หญิงตั้งครรภ์ คนชรา ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคภูมิแพ้ โรคปอด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคไตเรื้อรัง ฯลฯ ควรสวมหน้ากากอนามัยป้องกัน PM2.5 ทุกครั้งและตลอดเวลาที่ออกนอกอาคาร รวมถึงจำกัดระยะเวลาในการอยู่นอกอาคาร
อย่างไรก็ตามควรงดทำกิจกรรมหรือการออกกำลังกายกลางแจ้งที่ใช้แรงมากหรือเป็นเวลานาน และต้องสังเกตอาการผิดปกติ เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ โดยสามารถเข้ารับบริการที่คลินิกมลพิษทางอากาศที่เปิดให้บริการทั้งหมด 8 แห่ง ดังนี้ โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ โรงพยาบาลนคราภิบาล (โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร) โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ และโรงพยาบาลสิรินธร
โฆษกของกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อไปว่า ทุกคนยังสามารถมีส่วนร่วมดูแลสิ่งแวดล้อมและลดมลพิษในวันที่กรุงเทพฯ มีฝุ่นสูง โดยเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ จอดรถไว้ที่บ้าน หรือทางเดียวกันไปด้วยกัน เพราะรถทุกคันมีส่วนต่อการสร้างฝุ่น การใช้ระบบขนส่งมวลชนจะสามารถช่วยลดฝุ่นจากยานพาหนะได้มาก นอกจากนี้ ขอชวนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และลดกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดฝุ่นละออง เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น 1. หมั่นทำความสะอาดบ้านด้วยวิธีเช็ดฝุ่น 2. งดเผาขยะ งดจุดธูป 3. ปลูกต้นไม้ช่วยดูดซับมลพิษดักจับฝุ่นละออง 4. เดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ และ 5. ดับเครื่องยนต์ขณะจอดรถ ตรวจและดูแลรักษาเครื่องยนต์ให้อยู่ในสภาพดีไม่ให้มีค่าควันดำเกินมาตรฐาน