ถ้ำนาคา วัดถ้ำชัยมงคล กับเกร็ดความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ไม่อาศัยความเชื่อท้องถิ่น เฉลยปริศนาหินคล้ายพญานาคด้วย ปรากฏการณ์ซันแคร็ก
ความเชื่อความศรัทธา ล้วนแล้วแต่เป็นบ่เกิดของความสุขทางใจ ซึ่งหลายคนมักมีที่ยึดเหนี่ยวประจำตัวไม่ว่าจะเป็นศาสนา วัด หรือแม้แต่ความเชื่อในท้องถิ่นที่สามารถช่วยให้หลายต่อหลายคนมีกำลังใจต่อสู้และดำเนินชีวิตต่อไปได้ เช่นเดียวกับหนึ่งสถานที่ที่ผู้คนกำลังให้ความสนใจกันเป็นจำนวนมากอย่าง ถ้ำนาคา ซึ่งภายในที่แห่งนี้จะพบว่ามีหินขนาดใหญ่คล้ายกับเกล็ดของสัตว์ขนาดยักษ์อยู่ทั่วไปในแถบนั้น และชาวบ้านใกล้เคียงมีความเชื่อว่านี่คือ ร่างของพญานาคที่ชาวบ้านเรียกว่า หลวงปู่อือลือ ถูกสาปให้ร่างกลายเป็นหินติดอยู่ในถ้ำแห่งนี้
ซึ่งในวันนี้ทีมข่าว BRIGHT TODAY จะพาไปรู้จักกับ ถ้ำนาคา วัดถ้ำชัยมงคล อ.บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ ให้มากขึ้นผ่านแง่มุมของ วิทยาศาสตร์ ที่จะทำให้ทุกคนได้สัมผัสกับความน่าอัศจรรย์ของธรรมชาติที่ได้รังสรรค์สถานที่แห่งความศรัทธานี้ขึ้นมาได้อย่างสวยงาม

เมื่อพูดถึงหิน ดิน หรือถ้ำสามารถนำหลักวิชาการของธรณีวิทยามาใช้อธิบายการกำเนิดเกิดขึ้นของสิ่งเหล่านี้ได้ กับ หินถ้ำนาคา ก็เช่นกัน โดยปกติเมื่อหินบนพื้นผิวโลกผ่านร้อนผ่านหนาวและผ่านกาลเวลามาซักระยะ หินก้อนใหญ่ๆ สามารถแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยได้ ผ่านกระบวนการที่เรียกว่า กระบวนการผุพัง (weathering) ซึ่งแบ่งย่อยได้เป็น 2 ประเภท คือ
1) การผุพังทางกายภาพ (physical weathering) ซึ่งหมายถึง กระบวนการที่ทำให้หินแตกเป็นชิ้นเล็กลง โดยไม่เปลี่ยนองค์ประกอบของแร่ภายในหิน และ
2) การผุพังทางเคมี (chemical weathering) ซึ่งเป็นการผุพังจากการเปลี่ยนองค์ประกอบทางเคมีของแร่ในหินกลายเป็นแร่ใหม่
ในส่วนของหินนาคา ที่พบบริเวณอุทยานแห่งชาติภูลังกานั้น การปริแตกของพื้นผิวหินเริ่มต้นจากกระบวนการผุพังทางกายภาพ 2 รูปแบบ คือ
- การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ (thermal expansion) คือ การผุพังที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของหินร้อน-เย็นสลับกัน ทำให้หินขยาย-หดตัว ซึ่งทำให้เกิดการผุพังปริแตกตามพื้นผิวโดยรอบหิน หรือในทางวิชาการบางครั้งเราอาจเรียกลักษณะปรากฏเช่นนี้ว่า ซันแครก (sun crack) ซึ่งหมายถึง รอยแตกของหินอันเนื่องมาจากการได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์ในตอนกลางวัน สลับกันไปต่อเนื่องร่วมกับอุณหภูมิที่ลดลงในตอนกลางคืน และ
- การเปลี่ยนแปลงความชื้น (alternate wetting and drying) คือ การผุพังที่เกิดจากการดูดซึม-ระเหยของน้ำในหินสลับกัน ทำให้หินมีการขยาย-หดตัว และผุพัง ทั้งนี้โดยส่วนใหญ่เกิดกับหินตะกอนที่มีเม็ดตะกอนขนาดเล็กและมี แร่ดิน (clay mineral) เป็นองค์ประกอบ เนื่องจากแร่ดินสามารถขยายตัวได้ถึง 60% เมื่อได้รับความชื้นและหดตัวลงคงเดิมหากน้ำระเหยออกไป โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การแตกระแหงของโคลนตามท้องไร่ท้องนาเมื่อน้ำระเหยออกไป
การเกิดหินในลักษณะนี้สามารถพบได้ในบางพื้นที่ของภาคอีสาน นอกจากนี้ในประเทศไทยก็ไม่ได้มีเฉพาะที่ภูลังกาที่เดียว บริเวณภูหินร่องกล้า จังหวัดพิษณุโลก ก็สามารถพบได้เช่นกัน หรือแม้กระทั่งภูสิงห์ ในจังหวัดบบึงกาฬ ก็สามารถพบหินลักษณะแบบนี้จำนวนมากได้แทบตลอดเส้นทาง ในการขึ้นไปชมสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นที่รู้จักกันดีในขณะนี้ คือ หินสามวาฬ
นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมที่เหมือนเป็นหุบ ร่องลึกเลาะไปตามช่องหิน และการคดเคี้ยวของหินที่ทำให้สื่อเหมือนกับว่าเป็นงูยักษ์หรือพญานาคกำลังเลื้อยเลาะอยู่นั้น ก็สามารถอธิบายได้ด้วยกระบวนการทางธรณีวิทยาเช่นเดียวกัน โดยลักษณะการเกิดหุบเขาร่องลึกแบบนี้เป็น กระบวนการกัดกร่อน (erosion) โดยทั่วไป จากธารน้ำที่เกิดบริเวณหุบเขาหรือบริเวณต้นน้ำซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่สูง
ซึ่งโดยธรรมชาติของธารน้ำที่จะปรับระดับของท้องน้ำให้มีระดับใกล้เคียงกับ ระดับน้ำอ้างอิง (base level) กระบวนการกรัดกร่อนหินในบริเวณต้นน้ำจึงเป็นไปในรูปแบบของ การกัดกร่อนในแนวดิ่ง (downcutting) เป็นหลัก ทำให้ธารน้ำหรือร่องน้ำบริเวณต้นน้ำนั้นมีลักษณะเป็น หุบเหวลึก (canyon) และโดยส่วนใหญ่ก็มักจะพบน้ำตกและแก่งหินอยู่ตามธารน้ำที่กัดแนวดิ่งนี้ด้วยเป็นของคู่กัน ซึ่ง น้ำตกตาดวิมานทิพย์ ที่อยู่ในละแวกถ้ำนาคา อุทยานแห่งชาติภูลังกา ก็เป็นหลักฐานชั้นดีที่จะบอกว่า การเกิดร่องลึกคดเคียวเลี้ยวเลาะแบบนี้เป็นปกติธรรมดาของพื้นที่ต้นน้ำ

ภาพ/ข้อมูล : หินนาคา ภูลังกา กับธรณีวิทยาน่ารู้ / www.mitrearth.org
ข่าวที่น่าสนใจ
สั่งปิด 7 วัน ! ‘ถ้ำนาคี’ หลังพบนักท่องเที่ยว ติดโควิด 7 คน เสี่ยงสูงนับร้อย
สายมูดูด่วน! เปิดวิธีจองคิว เข้าชม ถ้ำนาคา ผ่าน แอปฯ QueQ ง่าย ๆ แค่ 3 ขั้นตอน